steppa

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552





"ครู" มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนๆหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็กๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน


ด้วยเหตุนี้เอง "การบูชาครู" หรือ "การไหว้ครู" จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู

1। เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์
2। เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฎศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว
3। เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม
4। เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
5। เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

การเตรียมพานไหว้ครู สมัยก่อน ครูประจำชั้นของแต่ละห้องจะคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีและมีมารยาทเรียบร้อย ผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนเป็นตัวแทนนำพานดอกไม้ไปไหว้ครู และในเย็นวันพุธจะมีการแบ่งหน้าที่กันว่า ในเช้าวันพฤหัสบดี นักเรียนคนใดจะต้องนำอะไรมาโรงเรียนบ้าง เช่น บางคนมีพานเงินหรือพานแก้วก็จะเป็นคนเอาพานมา บางคนเอาทรายหรือดินเหนียวมาใส่พานเพื่อปักดอกไม้ บางคนต้องเอาธูปเทียนมา ส่วนนักเรียนที่เหลือให้ไปช่วยกันหาดอกไม้มา โดยมีดอกไม้ที่กำหนด คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม และดอกไม้อื่นๆ เป็นต้น ตอนเช้าตรู่วันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็กๆ จะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ โดยที่พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้แล้วเอามัดมารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขืออีกเช่นกัน) จะเห็นว่าพิธีไหว้ครูแต่โบราณไม่มีพิธีรีตรองมากนัก แต่มีความหมายแฝงไว้มากมาย คนโบราณเป็นนักคิดจะทำอะไรก็มักจะผูกเป็นปริศนาที่ลึกซึ้งเอาไว้เสมอ ในพิธีไหว้ครูก็เช่นเดียวกันเครื่องสักการะที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้วยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมาย








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก

Backgrounds FreeGlitters.Com